ปวดหลังร้าวลงขา ใครเห็นก็ว่า “กระดูกทับเส้น” ! ความจริงเป็นอย่างไร มาดูกัน สวัสดีค่ะ เดอะมูฟคลับกลับมาอีกครั้ง กับหัวข้อ การปวดหลังร้าวลงขา หลาย ๆ คนมีอาการปวดหลัง/สะโพก ร้าวลงขา อาจมีอาการชาร่วมด้วย ไปนวดก็แล้ว รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อก็แล้ว อาการก็ยังไม่หาย วันนี้เดอะมูฟคลับ พาทุกคนมาไขข้อสงสัย ว่าอาการปวดหลังร้าวลงขานี้ เกิดจากอะไรได้บ้าง ลองมาดูพร้อม ๆ กันนะคะ 1. สาเหตุแรก ปวดจาก “ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ” HNP - Herniated Nucleus Palposus เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - อาการเกิดขึ้นทันที มักเกิดหลังการก้ม หรือบิดหมุน อย่างรวดเร็ว เช่น ยกของหนัก ไอจามแรง ๆ - ผู้ป่วยส่วนมาก จะปวดร้าว หรือชาลงขาด้านใดด้านหนึ่ง - หากเป็นรุนแรง อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น - ปวดมากขึ้นเมื่อ ไอ จาม หรือเบ่ง - ปวดแปล๊บ ร้าวรุนแรง - นอนคว่ำ หรือแอ่นหลัง มักจะเบาลง หากมีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สิ่งแรกที่ควรทำ คือการหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เจ็บเพิ่มขึ้น เพราะนั่นหมายถึง หมอนรองกระดูกจะทับเส้นประสาทมากขึ้นค่ะ เช่น หากก้มตัวแล้วปวดเพิ่มขึ้น ควรพยายามเลี่ยงท่าทางการก้มให้มากที่สุด โดยหากอาการเป็นไม่มาก เราสามารถทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อลดการกดของหมอนรองกระดูกต่อเส้นประสาทได้ค่ะ นักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการลดอาการปวด เช่น อัลตร้าซาวด์ เลเซอร์ เครื่องดึงหลัง กระตุ้นไฟฟ้า ประคบร้อน/เย็น การขยับดัดดึงข้อต่อ การจัดท่าเพื่อลดการกดของเส้นประสาท แต่หากอาการปวดรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวันมาก เช่น เดินไม่ได้ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดค่ะ 2. สาเหตุต่อไปปวดจาก “ ความเสื่อมของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ” Degenerative Disc เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป - มักเป็นมากเมื่อมีการลงน้ำหนัก เช่น นั่ง หรือ ยืนนาน ๆ - อาการค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด - ปวดตื้อ ๆ ปวดรำคาญ - นอนพัก มักจะเบาลง โดยความเสื่อมนี้ เกิดจากการแคบลงของหมอนรองกระดูก เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามอายุ อายุเพิ่มขึ้น น้ำในหมอนรองก็น้อยลง กระดูกจึงเบียดกันมากขึ้น X-ray อาจเห็นกระดูกงอกออกมา เรียกว่า Spur หากไม่ได้ผ่าตัด เราไม่สามารถทำให้ความเสื่อมหายไปได้ แต่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการขยับให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวดีขึ้น ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อรอบ ๆ ลองมาดูท่าออกกำลังกายสำหรับกระดูกสันหลังเสื่อมกันนะคะ ท่าที่ 1 นอนหงายนำขาพาดเข่าด้านตรงข้าม นำมือมาจับแล้วดึงให้เกิดการหมุนที่หลัง พอให้รู้สึกตึงแล้วคลายออก 10 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) ท่าที่ 2 นั่งทับส้น โน้มตัวลงยืดแขนไปด้านหน้าให้สุด ค้างไว้ 30 วินาที , 3 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) 3. สาเหตุสุดท้าย ปวดจาก “ กล้ามเนื้อสะโพกกดทับเส้นประสาท ” Piriformis Syndrome เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - ปวดตื้อ ๆ บริเวณสะโพกด้านหลัง - มักเป็นมากเมื่อนั่งนาน หรือเดินขึ้นลงบันได - กดบริเวณกล้ามเนื้อ จะมีอาการปวดเพิ่ม - อาการมักเป็นเพียง 1 ข้าง โดยกล้ามเนื้อ Piriformis นี้ ทำหน้าที่หมุนสะโพกออกด้านนอก ดังนั้น ใครที่ชอบนั่งไขว่ห้างนาน ๆ ต้องระวังภาวะนี้นะคะ สำหรับการรักษาอาการ Piriformis Syndrome จะเน้นไปในทางคลายกล้ามเนื้อ หากมีการหดสั้น และออกกำลังกายมัดกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงค่ะ ลองมาดูท่าออกกำลังกายกันนะคะ ท่าที่ 1 นอนหงาย ขาข้างที่ต้องการยืดพาดเป็นเลข 4 กอดใต้เข่าด้านตรงข้าม ยกขึ้นหาอก จะรู้สึกตึงกล้ามเนื้อสะโพก ค้างไว้ 10 วินาที , 5 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) สามารถทำในท่านั่งได้เช่นกันค่ะ โดยนำขาข้างที่ต้องการยืดพาดขึ้นเป็นเลข 4 หลังตรง ก้มตัวไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที , 5 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) เห็นไหมคะว่าอาการเดียวกัน ปวดหลังร้าวลงขาเหมือนกัน ก็อาจมีสาเหตุเหมือนกัน หากอาการเป็นอยู่เรื่อย ๆ พักแล้วไม่หาย บริหารเบื้องต้นแล้วยังมีอาการอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมนะคะ - The Move Club #ปวดหลังร้าวลงขา #กระดูกทับเส้น #กายภาพบำบัด #คลินิกกายภาพบำบัด #PiriformisSyndrome #กล้ามเนื้อสะโพกกดทับเส้นประสาท #หมอนรองกระดูกสันหลัง #หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
0 Comments
Leave a Reply. |
AuthorArchives
August 2024
Categories |