สวัสดีค่ะ กระทู้นี้เดอะมูฟคลับคลินิกกายภาพบำบัดจะพาทุกคนไปรู้จักกับ “ภาวะข้อไหล่ติด” โดยจะพูดถึงสาเหตุ อาการ รวมไปถึงท่าบริหารสำหรับคนที่มีปัญหาข้อไหล่ติดมาฝากค่ะ เนื่องจากช่วงนี้มีคนที่เป็นไหล่ติดมาปรึกษาค่อนข้างมาก เลยคิดว่าหากนำข้อมูลมาแชร์เพื่อนๆทุกคน น่าจะมีประโยชน์สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) จะมีอาการปวดไหล่ร่วมกับการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทิศทางต่างๆ ซึ่งข้อไหล่ติดมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.Primary frozen shoulder (ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน) 2.Secondary frozen shoulder (เกิดจากการใช้งานข้อไหล่ซ้ำๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่) โดยทั้งสองประเภทนั้นนำมาสู่อาการปวดและภาวะข้อไหล่ติดได้ จะพบมากในผู้หญิง อายุ 40- 60 ปี และหากมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ และโรคหัวใจ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดข้อไหล่ติดได้ค่ะ ระยะของข้อไหล่ติด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 Freezing phase เป็นช่วงที่อักเสบเยอะทำให้มีอาการปวดที่รุนแรงโดยเฉพาะช่วงกลางคืนจนรบกวนการนอนและการใช้ชีวิตประจำวัน (2-9 เดือน) ระยะที่ 2 Frozen phase ระยะนี้จะมีอาการปวดลดลงแต่จะมีอาการติดของไหล่มากขึ้น โดยเฉพาะการหมุนแขนเข้า-ออกและการกางแขน ผู้ป่วยมักบอกว่าไม่สามารถกางแขน สระผมลำบาก ในเพศหญิงจะติดตะขอเสื้อในด้านหลังไม่ได้ (4-12 เดือน) ระยะที่ 3 Thawing phase เป็นช่วงที่ไม่ค่อยปวดแล้ว แต่จะเหลืออาการข้อไหล่ติด (น้อยลงจากระยะที่ 2) โดยจะติดในบางมุมองศา (5 เดือน - 2ปี) สำหรับท่าบริหารที่จะฝาก มีทั้งหมด 4 ท่านะคะ ท่าที่ 1 จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบักในการดึงกลับ สามารถใช้ยางยืดเป็นแรงต้านเพิ่มความแข็งแรงได้ จะเริ่มจากจับยางยืดในลักษณะตามรูป จากนั้นค่อยๆ ออกแรงบีบสะบัก 2 ข้างเข้าหากัน ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 เซต ท่าที่ 2 ท่ายืดกล้ามเนื้อข้อไหล่ด้านหน้า เริ่มจากยืนหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือแนบกับกำแพงดังรูป จากนั้นค่อยๆ หมุนลำตัวไปด้านตรงข้ามกับแขนที่ยก ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง โดยจะมี 2 มุม ก็คือ 90 องศา และ 120 องศาค่ะ ท่าที่ 3 ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักแนวด้านข้าง เริ่มจากหันเข้ากำแพง โดยวางสันมือด้านนิ้วก้อยดังรูป จากนั้นค่อยๆ หมุนลำตัวไปด้านตรงข้ามกับแขนที่ยก ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง ท่าที่ 4 ท่าเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวโดยใช้ยางยืด ให้เอามือข้างที่ไหล่ติดไว้ข้างล่าง แล้วออกแรงเหยียดข้อศอก จากนั้น ให้ค่อยๆ ผ่อนแรง ให้ยางดึงมือขึ้นกลับมาสู่ท่าตั้งต้น ดังรูป หากเพื่อนๆคนไหนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามมาใต้กระทู้ได้เลยนะคะ หรือใครที่มีอาการเหล่านี้แล้วอยากเช็คอาการเพิ่มเติม เพื่อเข้ารับการรักษาอาการข้อไหล่ติด สามารถมาเข้ามาปรึกษาและทำกายภาพบำบัดได้ที่ เดอะมูฟคลับคลินิกกายภาพบำบัดได้เลยค่ะ .................................................................. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เดอะมูฟคลับคลินิกกายภาพบำบัด 1.สาขาเจริญนคร : ซ.เจริญนคร 40 เขตคลองสาน กรุงเทพ 2.สาขารัชดา-วงศ์สว่าง : ซ.รัชดาภิเษก78 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพ 3.สาขาราชพฤกษ์ : เลขที่ 1 ซ.ราชพฤกษ์ 6 ถ.ราชพฤกษ์ แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพ มีที่จอดรถทุกสาขาค่ะ ******************************************** ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Tel : 092-264-2144 ,097-447-4542 Facebook : Themoveclubratchada IG : Themoveclub Line : @ themove-ratchada Website : www.themoveclubratchada.com Youtube : TheMoveClubClinic #ไหล่ติด #ปวดไหล่ #ยกแขนไม่สุด #Frozen shoulder #PhysicalTherapyClinic #TheMoveClub #officesyndrome #คลินิกกายภาพบำบัด #เดอะมูฟคลับ #ออฟฟิศซินโดรม
0 Comments
ช่วงนี้คนเริ่มเป็น Office Syndrome มากขึ้น อาจด้วยบางส่วนเริ่มมีการ Work From Home และสถานที่ในบ้านไม่เหมาะกับการนั่งทำงาน หรือทำงานในออฟฟิศแล้วไม่ได้ลุกเป็นระยะเวลานาน ในคลินิกกายภาพบำบัดช่วงนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็เป็นเคสที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง จากการนั่งทำงานนาน ซึ่งออฟฟิศซินโดรม หรือ Upper cross syndrome เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลย์ของกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ มีความเรื้อรัง หายได้ยาก จึงควรดูแลตัวเองและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานค่ะ วันนี้นักกายฯ เลยขอมาแนะนำการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อป้องกัน หรือรักษาอาการปวดจากการนั่งนาน ๆ ค่ะ ก่อนอื่นเรามาสำรวจตัวเองก่อนนะคะว่าเราเป็น Office Syndrome (Upper Cross Syndrome) หรือไม่ “ Office Syndrome Check List ” - รู้สึกปวดหรือเมื่อยแบบรำคาญ - มีการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ หรือทำกิจกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่น นั่งใช้คอมพิวเตอร์นาน ขับรถนาน ใช้โทรศัพท์นาน - เมื่อขยับตัวหรือบีบนวดแล้วอาการเบาลง แต่จะกลับมาเป็นอีก - ใช้ความร้อน (แผ่นแปะ ประคบร้อน ฯลฯ) แล้วดีขึ้น แต่สักพักก็ปวดอีก - อาการไม่หายไปไหน เรื้อรัง กลับมาเป็นอยู่เรื่อย ๆ หากมีอาการใกล้เคียงกับ Check List ด้านบน แสดงว่าเราอาจเป็นออฟฟิศซินโดรมนะคะ “ จัดการอาการปวด ” วิธีการจัดการกับอาการปวดที่เราจะมาดูในวันนี้ มีทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งโฟกัสอาการปวดคอ บ่า ไหล่ นะคะ ใช้ได้ทั้งผู้ที่มีอาการปวด และยังไม่มีอาการค่ะ 1. พักเป็นระยะ สิ่งที่ง่ายที่สุดในการยับยั้งการทำงานซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อจนได้รับบาดเจ็บ คือการพักการใช้งานเป็นระยะ เช่น หากต้องนั่งใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละ 6-8 ชั่วโมง ลองตั้งนาฬิกาปลุกทุกชั่วโมงเพื่อลุกขึ้นมาเดิน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ต้องทำงานต่อเนื่องยาวนานจนประท้วงด้วยอาการปวดได้ค่ะ 2. ปรับสถานีทำงาน สถานีทำงาน คือทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เวลาที่จะต้องใช้งานซ้ำ ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ เป็นต้น การปรับสถานีทำงาน ช่วยทำให้กล้ามเนื้ออยู่ในความยาวที่เหมาะสม และลดภาระของกล้ามเนื้อได้ค่ะ เรามาลองปรับดูพร้อมกันนะคะ - ขอบบนของจอ Monitor ควรอยู่ตรงกับระดับสายตา หากจอต่ำเกินไป ลองหาหนังสือหรือกล่องมาหนุนจอดูนะคะ หากจอสูงเกินไป ลองปรับเก้าอี้ขึ้นเพื่อให้ตรงระดับค่ะ - ตำแหน่งคีย์บอร์ด ให้พิมพ์ได้โดยไหล่ไม่ยก ลองสังเกตตัวเองว่าเวลาพิมพ์ หัวไหล่เรายกอยู่หรือไม่ (ศอกงอประมาณ 90-120 องศา) จะค่อนข้างเป็นปัญหาในผู้ที่ใช้ Laptop จึงควรหาคีย์บอร์ดแยก (Split Keyboard) มาวางในตำแหน่งที่ต่ำกว่าแลปท็อป เพื่อจะได้ไม่ต้องยกไหล่ค่ะ - ข้อศอกต้องมีที่วาง การใช้งานในลักษณะงอศอกตลอด ทำให้ภาระงานของกล้ามเนื้อไหล่และแขนเยอะเกินไป หากเก้าอี้ไม่มีที่พักแขน อาจหาหมอนมารองศอก (ระวังไม่ให้ไหล่ยก) หากเก้าอี้มีที่พักแขน ปรับที่พักแขนพอดีกับข้อศอกเพื่อซัพพอร์ตนะคะ - หลังล่างโดนหนุน ร่างกายคนเรามีส่วนเว้าบริเวณหลังล่าง ตรงนี้หากเก้าอี้มีส่วนเว้าที่ซัพพอร์ตได้พอดีจะทำให้น้ำหนักตกได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นหากเก้าอี้ไม่มีส่วนเว้า ลองหาผ้าขนหนูหรือหมอนบาง ๆ วางไว้ระหว่างเอวกับเก้าอี้ดู นอกจากจะช่วยให้หลังรับน้ำหนักดีแล้ว ยังทำให้เรานั่งตัวตรงขึ้นด้วยค่ะ - ที่พิงหัว Head Rest อันนี้ไม่ได้จำเป็นมาก แต่หากเก้าอี้มีที่พิงศีรษะให้ได้พักเป็นระยะ กล้ามเนื้อก็จะรับ Load น้อยลง หากเก้าอี้ยังไม่มีที่พิงศีรษะ ลองหาส่วนเสริมไปติดตั้งก็เป็นทางเลือกที่ดีค่ะ ลองมาดูตัวอย่างการจัดสถานีทำงานกันค่ะ 3. หมั่นยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ เพื่อลดการบาดเจ็บที่เกิดจากการใช้งานที่มากเกินไป เราลองมายืดกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัว และเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมสำหรับการใช้งานกันค่ะ ทุกท่าต่อไปนี้ ทำค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้งนะคะ สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการค่ะ ควรรู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บ ชา ปวดเพิ่มขึ้น ควรหยุดทำและปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดนะคะ ยืดกล้ามเนื้อคอบ่า (Upper Trapezius and Levator Scapulae Muscle) นั่งบนเก้าอี้ มือฝั่งที่จะยืดหนึ่งจับเก้าอี้ไว้ไม่ให้ไหล่ยก ก้มศีรษะ เอียงหูแนบไหล่ในฝั่งตรงข้ามกับฝั่งที่ยืด หันมองเพดาน นำมือที่ไม่ได้จับเก้าอี้อ้อมมาจับศีรษะอีกด้าน ออกแรงดึงเล็กน้อย กล้ามเนื้ออีกมัด ท่าเดียวกันได้นะคะ เพียงแต่หันมองรักแร้ฝั่งตรงข้ามด้านที่ยืดแทนมองเพดาน พยายามก้มศีรษะไว้นะคะ ยืดกล้ามเนื้ออกมัดเล็ก (Pectoralis Minor Muscle) นั่งบนเก้าอี้ มือประสานกันไว้ด้านหลัง แอ่นอกหนีบสะบักเข้าหากัน กดไหล่ลง เงยหน้าขึ้น ยืดกล้ามเนื้ออกมัดใหญ่ (Pectoralis Major Muscle) ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ยกแขนขึ้นขนานลำตัว ศอกงอ 90 องศา ทาบแขนลงกับกำแพง หันตัวออกช้า ๆ มัดนี้ทำสองท่านะคะ รักแร้ทำมุม 90 และ 120 องศาค่ะ 4. เพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะบัก (Middle and Lower Trapezius Muscle) การทำงานส่วนใหญ่เป็นการใช้กล้ามเนื้อด้านหน้า ผู้ที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรมส่วนใหญ่ กล้ามเนื้อสะบักไม่แข็งแรง และยิ่งกล้ามเนื้อสะบักไม่แข็งแรง จะทำให้ปวดง่ายขึ้นนะคะ ลองออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักด้วยท่านี้กันนะคะ ยืนหันหน้าเข้ากำแพง กางแขนขึ้นประมาณ 140 องศา ลำตัวและแขนแนบกำแพง ค่อย ๆ ยกแขนออกจากกำแพง โดยลำตัวอยู่ที่เดิม พยายามหนีบสะบักเข้าหากัน ไม่ยกไหล่ ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อเซ็ต วันละ 3 เซ็ตค่ะ หากปรับเปลี่ยนท่านั่ง ออกกำลังกายเป็นประจำ และไม่นั่งท่าเดิมซ้ำเป็นระยะเวลานาน กล้ามเนื้อจะทำงานได้เหมาะสม และลดอาการปวดลงค่ะ หากนำไปใช้แล้วอาการเปลี่ยนแปลงยังไง มาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ - The Move Club Physical Therapy Clinic - #PhysicalTherapyClinic #TheMoveClub #officesyndrome #คลินิกกายภาพบำบัด #เดอะมูฟคลับ #ออฟฟิศซินโดรม
ปวดหลังร้าวลงขา ใครเห็นก็ว่า “กระดูกทับเส้น” ! ความจริงเป็นอย่างไร มาดูกัน สวัสดีค่ะ เดอะมูฟคลับกลับมาอีกครั้ง กับหัวข้อ การปวดหลังร้าวลงขา หลาย ๆ คนมีอาการปวดหลัง/สะโพก ร้าวลงขา อาจมีอาการชาร่วมด้วย ไปนวดก็แล้ว รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อก็แล้ว อาการก็ยังไม่หาย วันนี้เดอะมูฟคลับ พาทุกคนมาไขข้อสงสัย ว่าอาการปวดหลังร้าวลงขานี้ เกิดจากอะไรได้บ้าง ลองมาดูพร้อม ๆ กันนะคะ 1. สาเหตุแรก ปวดจาก “ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ” HNP - Herniated Nucleus Palposus เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - อาการเกิดขึ้นทันที มักเกิดหลังการก้ม หรือบิดหมุน อย่างรวดเร็ว เช่น ยกของหนัก ไอจามแรง ๆ - ผู้ป่วยส่วนมาก จะปวดร้าว หรือชาลงขาด้านใดด้านหนึ่ง - หากเป็นรุนแรง อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น กระดกปลายเท้าไม่ขึ้น - ปวดมากขึ้นเมื่อ ไอ จาม หรือเบ่ง - ปวดแปล๊บ ร้าวรุนแรง - นอนคว่ำ หรือแอ่นหลัง มักจะเบาลง หากมีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สิ่งแรกที่ควรทำ คือการหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เจ็บเพิ่มขึ้น เพราะนั่นหมายถึง หมอนรองกระดูกจะทับเส้นประสาทมากขึ้นค่ะ เช่น หากก้มตัวแล้วปวดเพิ่มขึ้น ควรพยายามเลี่ยงท่าทางการก้มให้มากที่สุด โดยหากอาการเป็นไม่มาก เราสามารถทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อลดการกดของหมอนรองกระดูกต่อเส้นประสาทได้ค่ะ นักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการลดอาการปวด เช่น อัลตร้าซาวด์ เลเซอร์ เครื่องดึงหลัง กระตุ้นไฟฟ้า ประคบร้อน/เย็น การขยับดัดดึงข้อต่อ การจัดท่าเพื่อลดการกดของเส้นประสาท แต่หากอาการปวดรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวันมาก เช่น เดินไม่ได้ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดค่ะ 2. สาเหตุต่อไปปวดจาก “ ความเสื่อมของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ” Degenerative Disc เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป - มักเป็นมากเมื่อมีการลงน้ำหนัก เช่น นั่ง หรือ ยืนนาน ๆ - อาการค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด - ปวดตื้อ ๆ ปวดรำคาญ - นอนพัก มักจะเบาลง โดยความเสื่อมนี้ เกิดจากการแคบลงของหมอนรองกระดูก เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามอายุ อายุเพิ่มขึ้น น้ำในหมอนรองก็น้อยลง กระดูกจึงเบียดกันมากขึ้น X-ray อาจเห็นกระดูกงอกออกมา เรียกว่า Spur หากไม่ได้ผ่าตัด เราไม่สามารถทำให้ความเสื่อมหายไปได้ แต่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการขยับให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวดีขึ้น ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อรอบ ๆ ลองมาดูท่าออกกำลังกายสำหรับกระดูกสันหลังเสื่อมกันนะคะ ท่าที่ 1 นอนหงายนำขาพาดเข่าด้านตรงข้าม นำมือมาจับแล้วดึงให้เกิดการหมุนที่หลัง พอให้รู้สึกตึงแล้วคลายออก 10 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) ท่าที่ 2 นั่งทับส้น โน้มตัวลงยืดแขนไปด้านหน้าให้สุด ค้างไว้ 30 วินาที , 3 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) 3. สาเหตุสุดท้าย ปวดจาก “ กล้ามเนื้อสะโพกกดทับเส้นประสาท ” Piriformis Syndrome เราจะพบอาการหลัก ๆ ดังนี้ - ปวดตื้อ ๆ บริเวณสะโพกด้านหลัง - มักเป็นมากเมื่อนั่งนาน หรือเดินขึ้นลงบันได - กดบริเวณกล้ามเนื้อ จะมีอาการปวดเพิ่ม - อาการมักเป็นเพียง 1 ข้าง โดยกล้ามเนื้อ Piriformis นี้ ทำหน้าที่หมุนสะโพกออกด้านนอก ดังนั้น ใครที่ชอบนั่งไขว่ห้างนาน ๆ ต้องระวังภาวะนี้นะคะ สำหรับการรักษาอาการ Piriformis Syndrome จะเน้นไปในทางคลายกล้ามเนื้อ หากมีการหดสั้น และออกกำลังกายมัดกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงค่ะ ลองมาดูท่าออกกำลังกายกันนะคะ ท่าที่ 1 นอนหงาย ขาข้างที่ต้องการยืดพาดเป็นเลข 4 กอดใต้เข่าด้านตรงข้าม ยกขึ้นหาอก จะรู้สึกตึงกล้ามเนื้อสะโพก ค้างไว้ 10 วินาที , 5 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) สามารถทำในท่านั่งได้เช่นกันค่ะ โดยนำขาข้างที่ต้องการยืดพาดขึ้นเป็นเลข 4 หลังตรง ก้มตัวไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที , 5 ครั้งต่อเซต , 3 เซตต่อวัน (ขณะทำและหลังทำไม่ควรรู้สึกเจ็บ หากเจ็บต้องหยุดทำทันที) เห็นไหมคะว่าอาการเดียวกัน ปวดหลังร้าวลงขาเหมือนกัน ก็อาจมีสาเหตุเหมือนกัน หากอาการเป็นอยู่เรื่อย ๆ พักแล้วไม่หาย บริหารเบื้องต้นแล้วยังมีอาการอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมนะคะ - The Move Club #ปวดหลังร้าวลงขา #กระดูกทับเส้น #กายภาพบำบัด #คลินิกกายภาพบำบัด #PiriformisSyndrome #กล้ามเนื้อสะโพกกดทับเส้นประสาท #หมอนรองกระดูกสันหลัง #หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
|
AuthorArchives
August 2024
Categories |